พร้อมที่จะย่างเท้าเข้าสู่ AEC หรือยัง

“พร้อมที่จะย่างเท้าเข้าสู่คำว่า...AEC...หรือยัง”

ครูป๊อป

        AEC…AEC…AEC…  ใครบ้างไม่เคยได้ยินคำๆ นี้ ยกมือขึ้น เพราะถ้าวันนี้เพียงคุณไม่เคยได้ยินคำๆ นี้ หรือรู้สึกไม่ชอบภาษาอังกฤษเสียแล้ว คุณอาจจะเหลือโอกาสและพื้นที่สำหรับการทำงานในสถานประกอบการที่คุณต้องการได้น้อยเต็มที หรือถ้ายังหลงยุค หลงสมัยคิดว่าจะยืนอย่างองอาจเหมือนที่เคยทระนง ความยากจนก็อาจจะตามมา ดังนั้นวันนี้เราต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ และต้องยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับประเทศนี้และประเทศอื่นๆ ในโลกใบนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจะรู้ว่า ASEAN และ AEC คืออะไร ในฐานะนักเรียนนักศึกษาการจะย่างเท้าเข้าสู่ AEC จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่ใช่แค่เพียงเห็นธงชาติของ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ปักอยู่ตามรั้วโรงเรียนแล้วคิดว่า นั้นคืออาเซียน... ณ เวลานี้คงไม่ใช่และไม่พอเสียแล้ว

        กลุ่มประเทศ ASEAN (The Association of South East Asian Nations) เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศที่ก่อตั้งเมื่อ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยแรกเริ่มประเทศไทยเป็นผู้คิดและชักชวนเพื่อนๆ บ้านอีก ๔ ประเทศมาร่วมก่อตั้ง คือ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์  ซึ่งต่อมามีประเทศอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามลำดับ โดยการรวมตัวของ ๑๐ ประเทศครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และให้มีอำนาจการต่อรองต่างๆ กับประเทศคู่ค้ามากขึ้น เกือบ ๔๗ ปี ที่ประชาคมนี้ประชุมกันแล้วประชุมกันอีกจนตกลงได้ว่า ในปี ๒๕๖๓ จะเปิดประชาคมของอาเซียนอย่างเป็นทางการ จึงได้เกิดคำว่า AEC (Asean Econnomic Community) หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น นอกจากนั้นยังเกิดประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Socia-Cultural Pillar) และประชาคมความมั่นคงอาเซียน (Political and Security Pillar) ขึ้นอีกด้วย

         จริงแล้วถ้าเป็นไปตามข้อตกลงคงอีก ๖ ปีกว่าที่จะเปิด AEC อย่างเป็นทางการ แต่ไม่รู้เพราะเหตุผลประการใด ได้มีการตกลงเลื่อนกำหนดให้เปิดอย่างเป็นทางการใหม่ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ หรืออีกประมาณ ๒๔ เดือนข้างหน้า หลังจากนั้นการเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุน แรงงานจะเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างอิสระเสรี สินค้าบางชนิดก็ไม่ต้องมีภาษีนำเข้า นำออกอีกต่อไป แรงงานไร้ฝีมือของบรรดาเพื่อนบ้านที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยคงยืดอกได้อย่างเต็มภาคภูมิใจเสียที ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป คิดดูแล้วคงดีไม่ใช่น้อยกับความฝันกับจินตนาการที่จะพบ บ้านเมืองจะเจริญ สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะมีให้ใช้ ให้พบเห็น จะมีการลงทุนกันอย่างอึกกระทึกครึกโครม ทุกคนจะยิ้มแย้มแจ่มใส จะมีภาษาหลากหลายให้ได้ยินให้ได้ฟัง อยากจะเดินทางไปที่ไหนๆ ใน ๑๐ ประเทศอาเซียนก็ง่าย ๆ สบาย ๆ สไตล์คนไทย ชีวิตหลังจากเรียนจบคงจะดีไม่น้อยเพราะการงานคงมีให้เลือกมากมาย อยากจะไปทำงานประเทศใดๆ ก็เดินทางไป โลกนี้ช่างสวยงามเสียจริงๆ...

          หากหลายคนที่กำลังจินตนาการได้อย่างนี้ภาษาการเมืองเขาเรียกว่า “พวกโลกสวย” แต่พวกนี้ก็ยังนับว่าดีกว่าพวกที่ไม่ได้จินตนาการหรือไม่เคยรู้เรื่องสิ่งใดเลย นอกจากก้มหน้าไสนิ้วอยู่กับอุปกรณ์พกพาชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แน่นอนถ้าต้องการให้ชีวิตของเราสวยงามเหมือนอย่างที่คิด สิ่งแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือ ทัศนคติเชิงบวก (Positive Attitude) ซึ่งทัศนคตินี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราเปิดหู เปิดตาตนเองให้มีความรู้ต่างๆ อย่างรอบด้าน กว้างขวางและอย่างมีคุณภาพ มีประสบการณ์ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ ยอมรับได้ทั้งด้านบวกและด้านลบจนสามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ตามความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลให้เป็นคนมีวินัยในตนเอง มีความมุ่งมั่นอดทน กระตือรือร้น และยอมรับผู้อื่นได้ ซึ่งขณะนี้เยาวชนไทยมีสิ่งเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไปทุกที

บทความนี้จึงกระตุกความคิดว่า เมื่อเราต้องเข้าสู่ AEC จะมีผลกระทบกับชีวิตอย่างไร สาขางานที่เราเรียนมาหลายปีมีแนวโน้มในอนาคตอย่างไร เป็นสาขาหนึ่งใน ๗ วิชาชีพที่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของแรงงานร่วม (MRA : Mutual Recognition Arrangement) หรือไม่ ที่สำคัญเราพร้อมที่จะยืนอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันแล้วหรือยัง เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องถามอยู่ในใจ และอย่ามัวหยุดถามเพียงเท่านั้น...เราต้องก้าวออกมาจากคำถาม แล้วพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างเร่งด่วนทั้งทักษะทางวิชาชีพ ทักษะทางภาษา รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประเทศเราเองและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอีก ๒ ปีคงไม่นานเกินรอที่คนไทยจะได้พบกับความเป็นจริงที่ไม่ใช่ความสับสนอีกต่อไป

 

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Krupop

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ไม่ระบุ