รักลูกศิษย์ให้ถูกทางและวิธีการลงโทษ
ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ'อบรมเชิงปฏิบัติการ ความต้องการจำเป็นในการลดการออกกลางคันของผู้เรียนในสถานศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเชื่อมกับระบบการประกันคุณภาพอาชีวศึกษา' ที่ได้ไปในงานนี้ก็ไปในฐานะผู้พัฒนาระบบ RMS ทำให้ต้องได้เตรียมตัว ศึกษาและนำความรู้ไปบอกกล่าว ซึ่งหัวใจสำคัญของการดูแลนักเรียนเพื่อนครูต้องปรับฐานความเข้าใจใหม่ว่า
1. วันนี้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยมีมากขึ้น เช่นความแตกต่างระหว่าง GEN X (ครูอาวุโส 35 up) กับ GEN Y(นักศึกษาและครูรุ่นใหม่ๆ) ซึ่งแม้ในสถานประกอบการและองค์การต่างๆก็กำลังประสบปัญหาเช่นนี้ น่าทำวิจัยกันอย่างจริงจัง สำหรับ GEN Y เป็นยุคที่นิ้วกลมบอกว่าเป็นคนยุคหลายหน้าต่าง(เทียบเคียงมาจากการทำงานในโปรแกรมวินโดว์ที่มีหลายหน้าจอ) ทำให้มีความเบื่อง่าย หลายความคิด สนใจหลายๆเรื่องในเวลาเดียวกัน ลองศึกษาดู(หาอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์)
2. ความเป็นครู และความเข้าใจในศาสตร์แห่งจิตวิทยาวัยรุ่นเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าเทคโนโลยี เช่นการไม่ใช้คำว่า ทำไมในการพูดคุย การไม่นั่งประจันหน้า การไม่ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพียงหนเดียวในการแก้ปัญหา และการไม่เอาตัวเราเป็นผู้แก้ปัญหาแต่เด็กต้องยอมรับและทำความเข้าใจปัญหาของเขาเองโดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะปัญหาวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจ รวมถึงความไว้วางใจระหว่างนักศึกษา ครู และผู้ปกครอง
3. กฎหมายและกฎระเบียบจำเป็นสำหรับคำแนะนำและแก้ปัญหาซึ่งครูจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเช่นกรณีการออกกลางครรภ์(ล้อคำ) พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
4. หน้าที่หลักของครูมีความเก่ง 3 ด้านคือเก่งสอน เก่งดูแลนักเรียนและเก่งจัดกิจกรรม เพื่อให้เด็กเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ดังนั้นครูที่เก่งแต่ละด้านควรช่วยเหลือกัน อย่าเหยียดหยันหรือดูถูกดูแคลนซึ่งกัน เพราะคนเก่งที่ไม่ดีและไม่มีความสุขกำลังจะล้นเมืองไทย
สำหรับ powerpoint ประกอบการบรรายาย download ได้ที่นี่
ภายหลังข้าพเจ้าได้มาอ่านบทความของท่านปัญญานันนทะภิกขุจากเว็บไซต์ในเรื่อง วิธีการเลี้ยงดูลูกหลาน หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พบเห็น ภูมิปัญญาและองค์ความรู้แห่งพุทธศาสนาเพียงพอสำหรับการขัดเกลาให้คนเป็นคนดี เพียงแต่ว่านั้นเราห่างไกลจากหลักธรรมกันเหลือเกิน เนื้อหาด้านล่างนี้ได้คัดลอกมากจากเว็บไซต์คำสอนของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ จากเว็บแห่งนี้ http://wisanchai.multiply.com/journal/item/11/11 เชิญทุกท่านสำราญกับความรู้ที่ได้นำแลกเปลี่ยนเถิด
คนฉลาดมีความรอบคอบ จึงควรระวังในเรื่องเล็กน้อยเสมอ ถ้าระวังในเรื่องเล็กน้อยได้ เรื่องใหญ่ ๆ มันก็จะพลอยถูกระวังไปด้วย หลักความจริงมีอยู่อย่างนี้ หน้าที่ของพ่อแม่นั้น จึงควรดูแล เอาใจใส่ถึงการกระทำของลูก ๆ ไว้เสมอ ถ้าเห็นลูกทำอะไรที่จะเป็นการผิดพลาดเสียหาย ก็รีบบอกเสียทันที พูดกันดี ๆ พูดกันอย่างใจเย็น ๆ อย่าพูดด้วยความโกรธ เพราะการสอนเด็กในเวลาโกรธนั้นไม่ได้ผลอะไรเลยกลับเป็นการฝึกให้เด็กเป็นคนมักโกรธเสียด้วย การพูดด้วยความรักความเอ็นดู ได้ผลมากกว่า ในขั้นต้น ๆ พูดให้เขาเข้าใจว่าชั่วเป็นอย่างไร ดีเป็นอย่างไร พ่อแม่ชอบคนดี...ไม่ชอบคนชั่ว ถ้าอยากให้พ่อแม่รักก็ต้องเป็นคนดี คอยบอก คอยเตือนไว้เสมอ อย่าเป็นคนเกียจคร้านเป็นอันขาด
ข้อควรจำ
1. อย่าลงโทษเด็กในเมื่อความผิดนั้นไม่ได้ปรากฎต่อหน้า หรือไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดของเขา
2. อย่าทำโทษเด็กเพื่อประชดประชันอีกคนหนึ่ง เช่น โกรธพ่อ ทุบลูกเสียบอบช้ำไป อย่างนี้ไม่เป็นธรรมแก่เด็ก
3. อย่าผัดเพี้ยนการทำโทษในเมื่อความผิดนั้นได้ปรากฎ ต่อหน้าหรือมีพยานหลักฐานแล้ว เช่นผัดว่า 'รอให้พ่อกลับมาก่อนเถอะ จะให้พ่อเฆี่ยน'
4. อย่าเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับโทษของเด็กมาเป็นการลงโทษเด็ก เช่น สัญญาว่าคืนนี้จะพาเด็กไปดูละคร พอเด็กกระทำผิดก็เลยงดการไปดูละครเสีย การงดไปดูละครเป็นการลงโทษเด็ก ซึ่งไม่สมควรทำเช่นนั้น
5. อย่าเอาชนะเด็กภายหลังที่ทำโทษเด็กแล้ว จะทำให้เด็กเกิดเห็นไปว่าการทำโทษเป็นการบรรเทาโทสะของตน หรือทำให้เด็กมองเห็นว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ เด็กจะไม่เกรงกลัวท่านในกาลต่อไป
6. อย่าลงโทษเด็กที่ได้รับโทษตามความผิดของเขาแล้ว เช่น เด็กซนไปล้มลงท่านก็โกรธไปตีซ้ำ พร้อมกับพูดคำหยาบสำทับเขา ย่อมเป็นการไม่เหมาะสม เพราะการหกล้มสอนเขาให้รู้ว่า เจ็บปวดขนาดไหนอยู่แล้ว อย่าเพิ่มความเจ็บปวดร้าวทางใจให้เขาอีกเลย และหากว่าเด็กยังไม่เดียงสา ท่านก็ควรให้ความระมัดระวังแก่เขา
7. อย่าทำโทษเด็กด้วยลิ้นของตน การด่าว่าบ่นจู้จี้ เด็ก เป็นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นการถ่ายทอดนิสัยให้เด็กเปล่า ๆ คนปากจัดจึงควร ระวังสักหน่อย
8. สิ่งใดที่ท่านบอกเขาว่าผิด ก็ให้ถือว่าเป็นความผิดตลอดไป เช่น เด็กของท่านตบหน้าท่าน ท่านก็ตีเขาในฐานะที่ความประพฤติไม่ดี แต่ต่อมาเขาตบหน้าท่านอีก บังเอิญอารมณ์ของท่านดี ท่านหัวเราะเป็นของขันไป การกระทำของท่านทำให้เด็กงงงวย ไม่สามารถเข้าใจว่าเมื่อไรการกระทำเช่นนั้นถูกผิดอย่างไร
9. อย่าทำโทษให้ผิดกันระหว่างผู้มีสิทธิทำโทษเด็ก พ่อทำโทษเด็กอย่างใดในความผิดอย่างหนึ่ง แม่ก็ควรทำโทษแบบเดียวกัน
10. อย่าทำโทษโดยความลำเอียง เช่น พี่น้องทะเลาะกัน พี่ถูกทำโทษหนัก น้องถูกทำโทษสถานเบาเพราะเห็นว่าเล็กกว่า ทำให้พี่เกิดน้อยใจและริษยาน้อง เกิดความเคียดแค้น อาจที่จะทำร้ายน้องได้ในภายหลัง และขาดจากความเคารพในตัวท่านด้วย
11. อย่าทำโทษเด็กโดยอาการเปาะแปะและพร่ำเพรื่อ จงทำให้เป็นกิจลักษณะ
12. จงอย่าลงโทษเด็กโดยอาการไม่สมควร เช่นโกรธไม่พูดด้วยสามวัน
13. อย่าโต้แย้งในเรื่องการลงโทษเด็กต่อหน้า ถ้าจะโต้เถียงกันต้องทำอย่าให้เด็กเห็น
14. อย่าแสดงอาหารเหลาะแหละ ไม่กล้าเอาจริงเอาจัง ด้วยการแสดงเอะอะให้คนอื่นทำโทษเด็กให้ การทำโทษนั้นจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ทำให้เด็กเชื่อถือยำเกรง
การทำโทษเด็กเป็นเรื่องสำคัญ
อย่าลงโทษเด็กของท่าน.....
โดยปราศจากหลักการเป็นอันขาด
หลักการทำโทษเด็กทั้ง 14 ข้อนี้
เป็นหลักใหญ่ที่ท่านควรจำไว้ให้ดีและนำไปใช้เถิด
ลูกของท่านก็จะกลายเป็นเด็กสุภาพเรียบร้อย
มีความเคารพยำเกรงในตัวท่าน
เชื่อฟังคำของท่านเสมอ
ถ้าท่านทำตนไม่เหมาะสม
เอาอารมณ์โทสะเข้าใช้กับเด็กแล้ว
มันก็เป็นความผิดของท่านเอง
จะไปโทษใครหาได้ไม่
ขอท่านอย่าได้ร้อนใจในภายหลังเพราะเรื่องนี้เลย